มหัศจรรย์พัฒนาการครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20 : ลูกดิ้น!!!
เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่เดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์กันแล้วนะคะ ไม่รู้ว่าคุณแม่ท้องเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่ที่แน่ๆ เดือนนี้มีเรื่องให้คุณแม่ได้ตื่นเต้นกับสัมผัสพิเศษของลูกน้อยในครรภ์ นั่นคือคุณแม่จะรู้สึกได้ว่า “ลูกดิ้น” !!! สำหรับการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20 ร่างกายคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องใดบ้างไปดูกันค่ะ
…การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20 กับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแม่ท้อง
- หัวใจของคุณแม่จะทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการทารก และการทำงานของรก
- ยอดมดลูกจะอยู่ต่ำจากสะดือ
- ยอดมดลูกจะขยายใหญ่จนเข้าไปเบียดพื้นที่ในช่องปอด ท้อง และไต
- ขนาดครรภ์ของคุณแม่ขยายใหญ่มากขึ้น
- น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่เห็นชัดเจนจะเป็นบริเวณก้น สะโพก
- คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดร่างกายมากขึ้น ทำให้นอนไม่ค่อยสบาย แนะให้หาหมอนมาหนุนบริเวณท้องก่อนนอน
- ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ค่อยดี และหายใจได้ไม่เต็มปอด
- ลูกดิ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกเริ่มมีการดิ้นขึ้นมาแล้ว
ในช่วงการตั้งครรภ์ของเดือนที่ 5 นี้ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์เริ่มเคลื่อนไหวให้ได้รู้สึกเป็นครั้งแรก ซึ่งอาการแบบนี้เรียกว่า การดิ้นของทารกในครรภ์ คุณแม่อาจจะรู้สึกเบาๆ ไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ แต่พออายุครรภ์เข้าเดือนที่ 6 เป็นต้นไป ความแรงจากการดิ้นของทารกจะค่อยๆ หนักขึ้น แนะนำว่าให้คุณแม่จดช่วงเวลาที่ลูกดิ้น และจำนวนการดิ้นของลูกในครรภ์ทุกวันไว้ด้วยนะคะ เพราะหากลูกไม่ดิ้น นั่นแสดงถึงสัญญาณอันตราย ต้องรีบไปพบคุณหมอที่ดูแลครรภ์คุณแม่ทันทีค่ะ
วิธีการนับลูกดิ้น
สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจสงสัยว่าควรจะต้องนับการดิ้นของลูกอย่างไร การเริ่มนับการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ ให้นับได้ตั้งแต่ ไม่ว่าลูกจะ ถีบ เตะ กระทุ้ง โก่งตัว หรือหมุนตัวของลูก อันนี้ถือว่าเป็นการดิ้นของลูกทั้งหมดค่ะ แต่ถ้าเป็นการตอดต่อเนื่องยาวๆ หรือสะอึกไม่นับว่าเป็นการดิ้นนะคะ ส่วนใหญ่แล้วลูกจะดิ้นประมาณ 10 ครั้งในหนึ่งวัน แนะนำให้คุณแม่จดบันทึกการดิ้นของลูกทุกวัน และหากลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่มีการดิ้น ให้รีบแจ้งคุรหมอทันทีนะคะ
…การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20 กับพัฒนาการของทารกในครรภ์
- ร่างกายเริ่มสร้างไขมันสีน้ำตาลออกมา เป็นไขมันที่ทำหน้าที่ในการให้ความร้อนแก่ร่างกาย
- เซลล์ประสาทในสมองส่วนที่รับรู้และส่งสัญญาณจากหูกำลังพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เยื่อชั้นในสุดของนัยน์ตาสามารถรับรู้แสงได้บ้างแล้ว
- ใบหูเริ่มคลี่ตัวออกมาจากศีรษะ
- ขนาดของแขน และขาเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น
- คิ้วเริ่มมีขนอ่อนขึ้น
- เซลล์ประสาทที่จำเป็นสำหรับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้พัฒนาขึ้นอีกหลายเซลล์
- ความยาวและน้ำหนักของทารกจากศีรษะถึงก้นจะอยู่ที่ประมาณ 14-16 เซนติเมตร และจะหนักประมาณ 260 กรัม
…โภชนาการแม่ท้องช่วงตั้งครรภ์ต้องดูแลให้ดี
โภชนาการที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับลูกน้อย ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์หากคุณแม่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ด้วยโภชนาการที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และแน่นอนว่าลูกน้อยในครรภ์ก็จะมีสุขภาพและพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดีด้วยเช่นกันค่ะ ดังนั้นหากอยากให้ลูกน้อยเกิดมามีสุขภาพดี คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับ โภชนาการช่วงแรกของชีวิต ในช่วงที่ตั้งครรภ์กันด้วยนะคะ