เมื่อลูกมีอาการแพ้อาหารควรทำอย่างไร ?
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยทารก แน่นอนว่าเมื่อถึงวัยที่ลูกต้องเริ่มทานอาหารเสริม คุณแม่ก็ย่อมอยากให้อาหารที่ดีที่สุดแก่ลูก แต่บางครั้งร่างกายลูกก็เกิดการต่อต้านอาหารบางอย่างได้ เช่น อาหารทะเล ไข่ เป็นต้น จนทำให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ออกมา ที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหาร” Food Allergy หรือที่เรียกติดปากกันอาการแพ้อาหารในเด็ก
…ภูมิแพ้อาหารคืออะไร ?
สำหรับอาการภูมิแพ้อาหาร คือ ปฎิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากกินอาหารบางอย่างเข้าไป ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีประมาณร้อยละ 6-8 และผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 4 ประสบปัญหานี้ และภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่จะหายไปเมื่ออายุ 5 ปี1
…สาเหตุของภูมิแพ้อาหาร ที่ต้องใส่ใจให้มาก เมื่อต้องให้อาหารเสริมกับลูก
ถึงแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของภูมิแพ้อาหารยังไม่ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าสาเหตุเหล่านี้มีบทบาทในพัฒนาการของภาวะภูมิแพ้อาหาร ดังนี้
- ยีนหรือสารพันธุกรรมบางอย่าง(ประวัติครอบครัว)
- ระบบภูมิคุ้มกันของทารก
- สภาวะบางอย่างในกระเพาะ และทางเดินอาหาร
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจสาเหตุของการแพ้อาหารกันให้มากขึ้น ขออธิบายง่ายๆ ตามนี้ค่ะ
ปกติระบบภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะของเด็ก หรือผู้ใหญ่ จะเข้าใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปเป็น “สิ่งแปลกปลอมแต่ปลอดภัย” และเมื่อเกิดมีอะไรบางอย่างผิดปกติระหว่างการแปรสภาพอาหารในระบบย่อยอาหาร ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาไวต่ออาหาร จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจว่าอาหารเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะผลิต “Markers” (เช่น อิมมูโนโกลบูลิน IgE หรือ IgC) สำหรับอาหารนั้น แล้วพอทานอาหารชนิดนั้นเข้าไปอีก อาหารที่ทานเข้าไปก็จะเจอกับ Markers กระตุ้นการปล่อยสารเคมีต่างๆ เช่น ฮิสตามีน โดยที่คุณแม่สามารถสังเกตอาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นกับลูก หรือกับคนในครอบครัวได้ ซึ่งอาการเริ่มแรกของอาการแพ้อาหาร เล่น มีผื่นแดง, ไข้ละอองฟาง, ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง, ไซนัสอักเสบ, หืดหอบ และมีอาการภูมิแพ้ anaphylaxis
ในเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป ที่เริ่มต้องทานอาหารเสริม อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารได้ง่าย ดังนั้นคุณแม่ควรต้องสังเกตด้วยว่าคนในครอบครัวทั้งคุณพ่อและคุณแม่ มีประวัติแพ้อาหารอะไรอยู่บ้างหรือไม่ นี่คืออาหาร 8 ประเภทที่มีสารก่อภูมิแพ้ หากลูกได้ทานเข้าไปมากๆ ก็อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ค่ะ
- ข้าวสาลี
- นมวัว
- ไข่
- ถั่วลิสง
- พืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท
- ปลา เช่น ปลาคอต ปลากระพง ปลาฟลาวเดอร์
- สัตว์น้ำที่มีเปลือก เช่น ปู กุ้งทะเลขนาดใหญ่ กุ่งขนาดเล็ก
- ถั่วเหลือง
สำหรับภาวะภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีปฏิกิริยาต่อโปรตีนในอาหารบางอย่างที่ทานเข้าไปบ่อยๆ จนทำให้ไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมาได้ค่ะ
…วิธีการดูแลป้องกันโรคภูมิแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูก
อาการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้นในเด็กทุกคนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีสารพันธุกรรมที่มีความโน้มเอียงที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ได้ แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดอาการแรกเริ่มในตัวลูก โดยเฉพาะในกรณีที่ในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหาร แนะนำว่าควรเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและระบบย่อยอาหารด้วยการกินอาหารที่สมดุลและหลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอ
ในลูกเล็กๆ นั้นคุณแม่สามารถป้องกันและลดโอกาสที่ลูกจะสัมผัสกับสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ได้ตามนี้ค่ะ
1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่านี้ ต้องให้นมแม่อย่างเดียวไม่สลับกับให้นมผง
- ให้ลูกเริ่มทานอาหารตอนอายุ 6 เดือนเท่านั้น ไม่ควรเริ่มอาหารเสริมให้ลูกเร็วกว่านี้
- ให้ลูกทานอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อย เช่น อาหารเสริมธัญพืช หรือซีเรียลสูตรข้าวเสริมธาตุเหล็ก หรือโจ๊กข้าวที่ทำเอง, ข้าวบดไข่แดง, ข้าวบดฟักทอง ฯลฯ หรือจะเป็นแอปเปิ้ลบด, ลูกแพร์บด เป็นต้น
- ให้คุณแม่เปลี่ยนอาหารใหม่ๆ ให้ลูกทีละอย่างทุก 2-3 วัน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้สามารถแยกแยะได้ว่าอาหารชนิดไหนที่เป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้อาหาร
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคภูมิแพ้อาหารให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลโภชนาการตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เพื่อที่ลูกจะได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เริ่มแรกและตลอดไปเมื่อเขาเติบโตขึ้นในอนาคตข้างหน้าค่ะ