รู้ไหมว่า…โภชนาการที่ไม่ถูกต้องเสี่ยงสุขภาพแย่ทั้งแม่และลูก
You Are What You Eat กินอะไรก็ได้อย่างนั้น รู้ไหมคะว่าอาหารที่เราทานกันในแต่วันนั้น สามารถบอกโรคในอนาคตได้ ยิ่งโดยเฉพาะในผู้หญิงที่ได้รับโภชนาการที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกต้องนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกได้ด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต ประเทศไทย โดย รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ได้มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า โภชนาการที่ไม่ถูกต้องในช่วงแรกของชีวิตส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และต่อทารกขณะอยู่ในครรภ์ รวมทั้งหลังคลอดด้วย ซึ่งปัญหาของโภชนาการที่ไม่ถูกต้องมาจากปัญหาการได้รับอาหารมากเกินไป (over-nutrition) และปัญหาการได้รับอาหารน้อยเกินไป (under-nutrition)
ผลกระทบที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มาจากการได้รับอาหารมากเกินไป (over-nutrition)
ขณะตั้งครรภ์ – ในช่วงเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่น้ำหนักตัวมากมีความเสี่ยงต่อการแท้งได้มากกว่าในคุณแม่ที่น้ำหนักตัวปกติ และยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ขณะคลอด – ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่น้ำหนักตัวมาก มักจะส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวมากด้วยเช่นกัน ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อถึงช่วงเวลาคลอดคือ คุณแม่ไม่สามารถคลอดลูกแบบธรรมชาติได้ เนื่องจากขนาดตัวของลูก ทำให้ต้องใช้วิธีผ่าคลอด ในคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากแผลผ่าตัดมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
หลังคลอด – ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากมักจะมีขนาดตัวที่โตกว่าปกติ เป็นผลทำให้มดลูกของคุณแม่ถูกยืดขยายมาก เมื่อหลังคลอดแล้วมดลูกก็จะหดรัดตัวได้ไม่ดี ซึ่งสามารถทำให้ตกเลือดหลังคลอดได้
ผลกระทบที่มีต่อทารก
ผลในระยะสั้นภายหลังคลอด – ขณะอยู่ในครรภ์จะชินกับการได้รับอาหารจำพวกน้ำตาลมากกว่าปกติ แต่เมื่อหลังคลอดปริมาณน้ำตาลที่ทารกเคยได้รับจะถูกตัดขาดในทันที ทำให้ทารกบางรายทนภาวะขาดน้ำตาลไม่ได้ จนอาจทำให้เกิดอาการชักจากการขาดน้ำตาลได้
ผลในระยะยาว – ในทารกที่คลอดมาจากแม่ที่มีน้ำหนักตัวมาก ส่วนมากเด็กก็จะมีภาวะน้ำหนักตัวมาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการควบคุมอาหารให้ดีพอ ก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นเด็กและผู้ใหญ่อ้วนในอนาคตได้ และโรคอ้วนก็ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
ผลกระทบที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มาจากการได้รับอาหารน้อยเกินไป (under-nutrition)
ในระหว่างตั้งครรภ์ – หากคุณแม่ได้รับอาหารน้อยเกินไป มักเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ขาดโปรตีนที่จะทำให้คุณแม่ผอม ขาดธาตุเหล็กที่จะทำให้คุณแม่ดูซีด เป็นต้น
ผลกระทบที่มีต่อทารก – ทารกในครรภ์ที่ได้รับสารอาหารน้อยหรือขาดสารอาหาร มีโอกาสสูงที่จะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และเมื่อหลังคลอดออกมาก็จะกลายเป็นทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย2
“โภชนาการ คือ หนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่แก้ไขได้ง่ายที่สุดในช่วงแรกของชีวิต และส่งผลกระทบอย่างมากในการเติบโตของทารกในครรภ์ รวมทั้งความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญอาหารและโรคภูมิแพ้ในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่”
สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน ก่อนตั้งครรภ์ควรได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนให้ลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย ทั้งนี้อาจจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนโภชนาการและการออกกำลังกายจากผู้เชี่ยวชาญ3,4
เห็นไหมคะว่า การได้รับโภชนาการที่ไม่ถูกต้องสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากมาย ฉะนั้นมาดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยให้ดีได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยโภชนาการที่ถูกต้องกันตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตกันนะคะ
References