มหัศจรรย์พัฒนาการครรภ์สัปดาห์ที่ 25-28 – ลูกแบ่งเพศชายหญิง
คุณแม่ท้องคนไหนอยู่ในช่วง พัฒนาการครรภ์สัปดาห์ 25-28 แล้วบ้างคะ ซึ่งเดือนนี้เข้าเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ ไปดูกันดีกว่าว่า คุณแม่มีพัฒนาการครรภ์ที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องใดกันบ้าง
พัฒนาการครรภ์สัปดาห์ 25-28 กับอาการที่แม่ท้องต้องระวัง !
พัฒนาการร่างกายทารกที่มีการเจริญเติบโตมากขึ้น รวมทั้งมดลูกที่ขยายใหญ่มากขึ้น ทำให้ไปเบียดกระเพาะ ชายโครงและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ส่งผลห้คุณแม่ท้องมีอาการแน่นจุกเสียด เวลาทานอาหารก็อาจทำให้เกิดกรด แก๊สขึ้นมาในกระเพาะอาหารได้ง่าย จึงแนะนำให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ผัก เนื้อปลา ข้าวกล้อง เปลี่ยนการทานขนมหวาน น้ำอัดลม มาเป็นผลไม้สด และดื่มน้ำเปล่า ที่สำคัญควรแบ่งการทานอาหารเป็น 6 มื้อย่อยๆ แต่ทานมื้อละน้อยๆ ก็จะช่วยให้คุณแม่สบายตัวมากขึ้นค่ะ
พัฒนาการครรภ์สัปดาห์ 25-28 โภชนาการที่เหมาะสม
เมื่อพัฒนาการครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 7 ในคนท้องโดยปกติแล้วจะเริ่มรู้สึกอุ้ยอาย และเริ่มมีอาการบวมมือ บวมเท้า ซึ่งอาการบวมของคนท้องเป็นเรื่องปกติ (แต่หากมีอาการบวมมากกว่าปกติที่ใบหน้า มือ และเท้า มีอาการอาเจียน หรืออาการบ่งชี้ที่ผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ควรต้องพบคุณหมอทันที เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษขึ้นได้) และเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดอาการบวมน้ำ และไตทำงานหนักมากเกินไป คุณแม่ควรงดการทานอาหารที่มีรสชาติเค็มลง รวมทั้งอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ เช่น น้ำอัดลม อาหารหมักดอง ฯลฯ เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนจากแก๊สเกิดในกระเพาะอาหารค่ะ
อาหารที่ที่ต่อพัฒนาการครรภ์ ในช่วงเดือนนี้ทารกในครรภ์มีการพัฒนาร่างกาย อวัยวะต่างๆ ให้สมบูรณ์พร้อมมากขึ้น จึงแนะนำให้คุณแม่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานปลา ดื่มนม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี เพราะสารอาหารที่ได้ จะมีทั้งกรดไขมัน โอเมก้า-3 วิตามินซี วิตามินเอจากธรรมชาติ ที่มีส่วนช่วยบำรุงระบบสมอง ระบบการมองเห็น รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้กับลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างดี และยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นคุณแม่จะรู้สึกอ่อนพลีย และเหนื่อยได้ง่าย ระหว่างวันอาจเพิ่มความสดชื่นเพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ด้วยการดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้มคั้นสด น้ำฝรั่ง น้ำสัปบะรด, น้ำองุ่น น้ำแครอท หรือน้ำแตงโมปั่น เป็นต้น
การดูแลโภชนาการอาหารการกินระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะสารอาหารที่ประโยชน์ไม่เพียงแต่ไปหล่อเลี้ยงร่างกายของคุณแม่คนเดียวเท่านั้น แต่สารอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปยังจะถูกส่งต่อเพื่อไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ ให้มีพัฒนาการร่างกายที่สมบูรณ์ และภูมิคุ้มกันสุขภาพที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ค่ะ แต่จะดีมากแค่ไหนหากก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณพ่อคุณแม่หันมาดูแลให้ความสำคัญกับอาหารการกินกันตั้งแต่ก่อนมีลูก การเริ่มต้นสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต้องเริ่มที่ “โภชนาการช่วงแรกของชีวิต”